::: ขอต้อนรับสู่เว็บไซต์โรงเรียนกำแพง จังหวัดศรีสะเกษ เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา ศรีสะเกษ-ยโสธร   :::: www.kps.ac.th :::

เอกสารเผยแพร่ โรงเรียนกำแพง

เผยแพร่ผลงานทางวิชาการ

บทความ : การนิเทศโดยอาศัยแนวคิดชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ เพื่อยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษา รร.กำแพง

บทความ โดย ครูปาริสา อร่ามเรือง  :  การนิเทศโดยอาศัยแนวคิดชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ เพื่อยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษาโรงเรียนกำแพง

การนิเทศโดยอาศัยแนวคิดชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ

เพื่อยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษาโรงเรียนกำแพง

นางปาริสา อร่ามเรือง

      กระบวนการนิเทศโดยอาศัยแนวคิดชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพเพื่อยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษา โดยความหมายของการนิเทศโดยอาศัยแนวคิดชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ เพื่อยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษาในที่นี้ เป็นการนิยามจากการศึกษาความหมายของการสะท้อนคิด (Schon, ๑๙๘๗; Knowles, Cole & Press wood, ๑๙๙๔; Johns, ๒๐๐๐) และความหมายของชุมชนแห่งการเรียนรู้วิชาชีพ สรุปได้ว่า การนิเทศโดยอาศัยแนวคิดชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ เพื่อยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษา เป็นการนิเทศที่ใช้กระบวนการทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่องของครูและนักการศึกษาในวงจรของการร่วมกันตั้งคำถาม และการทำวิจัยเชิงปฏิบัติการ โดยส่งเสริมให้ครูคิดวิเคราะห์ด้วยหลักการและเหตุผล รวมทั้งการทบทวนและสะท้อนการทำงานของตน (Reflective Practice) เพื่อให้เกิดความเข้าใจและเกิดการเรียนรู้จากประสบการณ์ เกิดความคิดและมุมมองใหม่ ๆ และหากลวิธีในการปฏิบัติงานให้ดีขึ้น ส่งผลให้ครูสามารถปรับปรุงการปฏิบัติงานของตนเองเพื่อให้ผู้เรียนบรรลุผลการเรียนรู้ที่ดีขึ้น

       Killion และ Todnem (๑๙๙๑) ได้นำเสนอกระบวนการสะท้อนคิดเป็นวงจรที่มี ๓ ระยะ ประกอบด้วย ๑) การสะท้อนคิดสาหรับการปฏิบัติ (Reflection for Action) เป็นการทบทวนเกี่ยวกับสิ่งที่ทำแล้วประสบความสำเร็จ และระบุแนวทางที่จะนำไปใช้เพื่อให้ประสบความสำเร็จในการปฏิบัติงานต่อไปในอนาคต ๒) การสะท้อนคิดในขณะปฏิบัติ (Reflection in Action) เป็นกระบวนการที่บุคคลต้องควบคุมความตั้งใจและการปฏิบัติของตนเอง และ ๓) การสะท้อนคิดหลังการปฏิบัติ (Reflection on Action) เป็นการย้อนกลับไปพิจารณาสิ่งที่ทำสำเร็จแล้ว และทบทวนเกี่ยวกับความคิด การกระทำ และผลงาน เป็นการประเมินตนเอง (Self-Evaluation) และมีปฏิกิริยาตอบสนองกับการปฏิบัติด้วยตนเอง (Self-Reaction) ซึ่ง Dunne และ Villani (๒๐๐๗) ได้นำกระบวนการสะท้อนคิดดังกล่าวมาใช้ในกระบวนการนิเทศ
แบบร่วมมือ ประกอบด้วยการสนทนาเพื่อสะท้อนคิดเกี่ยวกับการปฏิบัติการสอนเป็น ๓ ระยะ ดังนี้

 

ระยะที่ ๑ การสนทนาเกี่ยวกับการวางแผนจัดการเรียนรู้ (Planning Conversation)

       การสนทนาเกี่ยวกับการวางแผนจัดการเรียนรู้ เป็นขั้นตอนที่ผู้นิเทศสนับสนุนให้ครูได้ระบุเป้าหมายการเรียนรู้ และอธิบายหรือสาธิตเกี่ยวกับสิ่งที่จะสอน โดยผู้นิเทศใช้คำถามนำเพื่อให้ครูได้ไตร่ตรองเกี่ยวกับการสอนของตนเองก่อนที่จะนำไปปฏิบัติการสอนในชั้นเรียน ผู้นิเทศจำเป็นต้องช่วยให้ครูเกิดความเข้าใจอย่างถ่องแท้เกี่ยวกับเป้าหมายในการสอนของตนเอง นอกจากนี้ ผู้นิเทศต้องส่งเสริมให้ครูได้เห็นความเชื่อมโยงระหว่างพฤติกรรมการสอน พฤติกรรมของผู้เรียนที่คาดหวัง จุดมุ่งหมายของบทเรียน และผลการเรียนรู้ที่ต้องการ การดาเนินการสนทนาเกี่ยวกับการวางแผนจัดการเรียนรู้ให้มีประสิทธิภาพผู้นิเทศจึงจำเป็นต้องใช้คำถามเพื่อให้ครูได้ไตร่ตรองเกี่ยวกับการดาเนินการในเรื่องต่อไปนี้

๑. การทำความเข้าใจเกี่ยวกับเป้าหมายการเรียนรู้และจุดประสงค์การเรียนรู้

๒. การระบุเนื้อหาสาระและวิธีการที่จะสอน

๓. การกำหนดกระบวนการ กิจกรรม และสื่อการเรียนการสอน

๔. การกำหนดหลักฐานการเรียนรู้ วิธีการวัดและประเมินผล

๕. การระบุประเภทของข้อมูลที่จะใช้สาหรับการสะท้อนคิดเกี่ยวกับการปฏิบัติการสอน

๖. การทดลองใช้แผนการจัดการเรียนรู้ก่อนการนำไปใช้สอนในชั้นเรียน

 

ระยะที่ ๒ การสังเกตและการรวบรวมข้อมูลสำหรับการนิเทศ (Coaching Observation and Data Gathering)

        การสังเกตและการรวบข้อมูลเพื่อนำไปใช้ในการนิเทศเป็นขั้นตอนที่ผู้นิเทศทำการสังเกตการสอนในชั้นเรียนของครูและรวบรวมข้อมูลเพื่อให้ครูนำไปใช้ในการสะท้อนคิดเกี่ยวกับการปฏิบัติการสอนของตนเอง ข้อมูลสำหรับการนิเทศ จะต้องเป็นข้อมูลที่ใช้สำหรับการแลกเปลี่ยนเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ทักษะ ที่ต้องการ และเป็นข้อมูลเพื่อการปรับปรุงการปฏิบัติงาน และในที่นี้

ขอยกตัวอย่างวิธีการรวบรวมข้อมูลสำหรับการนิเทศ ๒ วิธีดังนี้

๑. การบันทึกวาจาของครูและผู้เรียนตามที่ต้องการ (Selective Verbatim) โดยครูและผู้นิเทศควรตกลงร่วมกันก่อนว่า ครูต้องการข้อมูลเกี่ยวกับคำพูดของครูและผู้เรียนในเรื่องใดบ้าง และเทคนิคนี้จะมีประโยชน์อย่างยิ่งในกรณีที่ครูต้องการทบทวน ไตร่ตรองเกี่ยวกับการใช้คำถามของตนเอง ระดับการคิดของผู้เรียน หรือสังเกตปริมาณการพูดของครูในชั้นเรียนว่ามีมากน้อยเพียงใด

๒. การบันทึกเสียงหรือบันทึกวีดิทัศน์ (Audio or Video Recording) อาจเป็นการบันทึกสิ่งที่เกิดขึ้น ทั้งหมดในชั้นเรียน การบันทึกเหตุการณ์บางส่วน หรือบันทึกเฉพาะประเด็นที่ครูต้องการทราบหรือสนใจเกี่ยวกับการปฏิบัติการสอน ของตน เช่น การปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับผู้เรียน พฤติกรรมของผู้เรียน

๓. การสนทนาเพื่อสะท้อนคิด (Reflecting Conversation)

การสนทนาในขั้นตอนนี้เป็นทั้งการสะท้อนคิดเกี่ยวกับสิ่งที่ได้ปฏิบัติไปแล้วและเป็นการเริ่มการสนทนาเกี่ยวกับการวางแผนการจัดการเรียนรู้สำหรับครั้งต่อไป ผู้นิเทศควรสนับสนุนให้การสนทนามีบรรยากาศที่ผ่อนคลาย และจัดเตรียมข้อมูลที่ได้จากการสังเกตเพื่อให้ครูนามาใช้ในการวิเคราะห์และเกิดการเรียนรู้จากการปฏิบัติการสอนของตนเอง ในการสนทนาเพื่อสะท้อนคิด ผู้นิเทศต้องใช้คาถามเพื่อกระตุ้นให้ครูได้ไตร่ตรองเกี่ยวกับการสอนของตน ให้ครูทบทวนและทำความเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้น วิเคราะห์สาเหตุของสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น และพิจารณาว่าจะนาข้อมูลที่สังเกตได้ไปใช้อย่างไร และผู้นิเทศควรสนับสนุนให้ครูใช้กลวิธีต่าง ๆ เพื่อช่วยให้ครูได้สะท้อนคิดเกี่ยวกับการสอนของตนเอง เช่น ให้ครูสรุปและสะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้นขณะสอน บอกวิธีการประเมินผล เปรียบเทียบระหว่างสิ่งที่เกิดขึ้นกับสิ่งที่วางแผนไว้ ระบุผลกระทบของพฤติกรรมการสอนที่มีต่อการเรียนรู้ของผู้เรียน บอกสิ่งที่จะนาไปใช้ในการวางแผนการจัดการเรียนรู้ในครั้งต่อไป

 

ระยะที่ ๓ สรุปรายงานผลการดำเนินงาน PLC

การออกแบบการนิเทศโดยอาศัยแนวคิดชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ

เพื่อยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษาโรงเรียนกำแพง

 

 

ฺฺฺBest Practice ครูปาริสา อร่ามรือง : การพัฒนาทักษะการแก้ปัญหา เรื่อง ความน่าจะเป็น โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน

ฺฺฺBest Practice ครูปาริสา อร่ามรือง :  การพัฒนาทักษะการแก้ปัญหา เรื่อง ความน่าจะเป็น  โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem-Based Learning) ผสานหลักการทำงานของศาสตร์พระราชา

แบบเสนอวิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศ ( Best Practice )

โรงเรียนกำแพง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 28

--------------------------------------------------------------------------------------

ชื่อผลงาน: การพัฒนาทักษะการแก้ปัญหา เรื่อง ความน่าจะเป็น โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem-Based Learning) ผสานหลักการทำงานของศาสตร์พระราชา สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5

ชื่อผู้เสนอผลงาน: นางปาริสา อร่ามเรือง ตำแหน่ง ครู วิทยฐานะ ครูชำนาญการพิเศษ

โทรศัพท์มือถือ: 062-1545626   e-mail: This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 

รายละเอียดผลงาน

1. ความเป็นมาและความสำคัญของวิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศ

         ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 โดยเฉพาะหมวด 4 มาตรา 22 การจัดการศึกษาต้องยึดหลักว่าผู้เรียนทุกคนมีความสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ และถือว่าผู้เรียนมีความสำคัญที่สุด กระบวนการจัดการศึกษาต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาตามธรรมชาติและเต็มตามศักยภาพ มาตรา 24 การจัดกระบวนการเรียนรู้ ให้สถานศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการดังต่อไปนี้ (1) จัดเนื้อหาสาระและกิจกรรมให้สอดคล้องกับความสนใจและความถนัดของผู้เรียน โดยคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล (2) ฝึกทักษะ กระบวนการคิด การจัดการ การเผชิญสถานการณ์ และการประยุกต์ความรู้มาใช้เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหา (3) จัดกิจกรรมให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง ฝึกการปฏิบัติ ให้ทำได้ คิดเป็น ทำเป็น รักการอ่านและเกิดการใฝ่รู้อย่างต่อเนื่อง  (4) จัดการเรียนการสอนโดยผสมผสานสาระความรู้ด้านต่างๆ อย่างได้สัดส่วนสมดุลกัน รวมทั้งปลูกฝังคุณธรรมค่านิยมที่ดีงาม และคุณลักษณะอันพึงประสงค์ไว้ในทุกวิชา (5) ส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้สอนสามารถจัดบรรยากาศ สภาพแวดล้อม สื่อการเรียนและอานวยความสะดวกเพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้และมีความรอบรู้ รวมทั้งสามารถใช้การวิจัยเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ ทั้งนี้ ผู้สอนและผู้เรียนอาจเรียนรู้ไปพร้อมกันจากสื่อการเรียนการสอนและแหล่งวิทยาการประเภทต่างๆ (สานักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ , 2549)

         เครือข่ายองค์กรความร่วมมือเพื่อทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 (Partnership for 21st Century Skills) (2555) ได้พัฒนาวิสัยทัศน์การเรียนรู้เป็นกรอบความคิดเพื่อการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 โดยผสมผสานองค์ความรู้ ทักษะเฉพาะด้าน ความชำนาญการและความรู้เท่าทันด้านต่างๆเข้าด้วยกัน เพื่อให้ประสบความสำเร็จทั้งในด้านการทำงานและการดำเนินชีวิต เป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาทักษะแห่งอนาคตใหม่สำหรับประเทศไทย การพัฒนาทักษะในศตวรรษที่ 21 ทุกทักษะไปใช้ นักเรียนทุกคนจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาให้มีความรู้ความเข้าใจเนื้อหาหลักด้านวิชาการ การที่นักเรียนจะสามารถคิดอย่างมีวิจารณญาณและสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้นต้องอาศัยการบูรณาการของพื้นฐานความรู้ดังกล่าวภายใต้บริบทการสอนความรู้วิชาหลัก นักเรียนต้องเรียนรู้ทักษะที่จำเป็นเพื่อให้ประสบความสำเร็จในโลกทุกวันนี้ เช่น การคิดอย่างมีวิจารณญาณ การคิดแก้ปัญหา การคิดสร้างสรรค์ การสื่อสารและการร่วมมือกันทางาน การรอบรู้สาระวิชาหลักและทักษะเพื่อการดำรงชีวิตในศตวรรษที่ 21 มีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งต่อความสำเร็จของนักเรียน สาระวิชาหลักได้แก่ ภาษาอังกฤษ การอ่าน ภาษาของโลก ศิลปะคณิตศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ การปกครองและความเป็นพลเมืองที่ดี แต่ไม่เพียงพอสำหรับการเรียนรู้เพื่อมีชีวิตในโลกยุคศตวรรษที่ 21 โรงเรียนต้องส่งเสริมความเข้าใจเนื้อหาวิชาการให้อยู่ในระดับสูงด้วยการสอดแทรกทักษะเพื่อการดำรงชีวิตในศตวรรษที่ 21 เข้าในทุกวิชาหลัก ได้แก่ ความรู้เรื่องโลก (Global Awareness) ความรู้ด้านการเงิน, เศรษฐกิจ, ธุรกิจและการเป็นผู้ประกอบการ (Financial, Economic, Business and Entrepreneurial Literacy) ความรู้ด้านการเป็นพลเมืองที่ดี (Civic Literacy) ความรู้ด้านสุขภาพ (Health Literacy) ความรู้ด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Literacy) ความรอบรู้ ด้านการเรียนรู้และนวัตกรรมจะเป็นตัวกำหนดความพร้อมของนักเรียนในการเข้าสู่การทางาน ซึ่งมีความซับซ้อนเพิ่มขึ้นในโลกปัจจุบัน ทักษะด้านนี้ ได้แก่ ความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม (Creativity and Innovation) การคิดอย่างมีวิจารณญาณและการแก้ปัญหา (Critical Thinking and Problem Solving) การสื่อสารและความร่วมมือ (Communication and Collaboration) ในด้านทักษะสารสนเทศ สื่อและเทคโนโลยีทุกวันนี้ เราอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ขับเคลื่อนด้วยสื่อและเทคโนโลยี ซึ่งจะเห็นได้จากการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารจานวนมากมาย การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วด้านเทคโนโลยีการศึกษาและความสามารถในการเชื่อมโยงกัน และการมีส่วนร่วมในอัตราที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน พลเมืองและแรงงานที่มีประสิทธิภาพต้องสามารถแสดงทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณและปฏิบัติงานได้หลากหลาย เช่น ทักษะด้านสารสนเทศ (Information Literacy) ทักษะด้านสื่อ (Media Literacy) ทักษะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (Information, Communications and Technology, Literacy) ในส่วนของทักษะชีวิตและอาชีพชีวิตและสภาพการทางานในทุกวันนี้ จาเป็นต้องมีทักษะการคิดและองค์ความรู้เพิ่มขึ้นมากมาย ความสามารถในการทำงานในยุคที่แข่งขันกันด้านข้อมูลข่าวสารและการดำรงชีวิตที่มีความซ้ำซ้อนให้ประสบความสำเร็จได้นั้น จำเป็นที่นักเรียนต้องใส่ใจอย่างเคร่งครัดในการพัฒนาทักษะชีวิตต่อไปนี้ให้เพียงพอ ได้แก่ ความยืดหยุ่นและความสามารถในการปรับตัว (Flexibility and Adaptability) การริเริ่มและการกำกับดูแลตนเองได้ (Initiative and Self-Direction) ทักษะด้านสังคมและทักษะข้ามวัฒนธรรม (Social and Cross-Cultural Skills) การมีผลงาน และความรับผิดชอบตรวจสอบได้ (Productivity and Accountability) ภาวะผู้นำและความรับผิดชอบ (Leadership and Responsibility) (ภาคีเพื่อทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 , 2555 : วิจารณ์ พานิช, 2555)

         ดังนั้นการศึกษายุคใหม่จึงได้ชื่อว่า การเรียนรู้สาหรับศตวรรษที่ 21 ซึ่งมีความหมายว่า แตกต่างจากการเรียนรู้ ในศตวรรษที่ 20 และ 19 อย่างสิ้นเชิง วิธีการหลายอย่างที่เคยใช้ได้ผลดีถือเป็นวิธีการที่ล้าสมัย เช่น การสอนแบบสอนหน้าชั้นโดยครูบอกสาระวิชาให้นักเรียนจด หรือการสอนแบบบรรยายหน้าชั้น (Lecture) ในมหาวิทยาลัย ซึ่งถือเป็นวิธีการเรียนแบบนักเรียนเป็นผู้รับถ่ายทอดสาระหรือเนื้อความรู้ด้วยเหตุผลหลากหลายประการ การเรียนรู้ที่ได้ผลดีต้องเป็นวิธีการที่นักเรียนเป็นผู้ลงมือทำ (Learning by doing) ไม่ใช่นักเรียนเป็นผู้ฟังและจด-จำ วิธีการเรียนรู้แบบลงมือทำตกผลึกเป็น “กระบวนการจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน ( Problem based Learning หรือเรียกว่า PBL) เป็นนวัตกรรมหนึ่งในการพัฒนาความฉลาดภายนอก (ความเข้าใจต่อโลกและปรากฏการณ์)ให้กับผู้เรียน ทาให้เกิดกระบวนการเรียนรู้จากปมปัญหาสู่ปัญญา เพราะสังคมโลกนับวันจะยิ่งซับซ้อนขึ้น จำนวนปัญหาจะมากขึ้น ซับซ้อนขึ้น ยุ่งเหยิงขึ้น กระบวนการเรียนรู้โดย PBL จะทำให้ผู้เรียนไม่ตื่นกลัวกับปัญหา มองปัญหาเป็นเรื่องท้าทายซึ่งจะนำไปสู่การสร้างความเข้าใจต่อปัญหา และหาวิธีการแก้ปัญหา กระบวนการทำความเข้าใจต่อปัญหา และ กระบวนการหาวิธีการหรือนวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหาผู้เรียนจะต้องใช้ความรู้อันหลากหลาย (Multi Knowledge) และ ทักษะที่หลากหลาย(Multi skills) ซึ่งจะทำให้ผู้เรียนเข้าถึงความเข้าใจหลักของเนื้อหาชุดนั้น และเกิดทักษะอันหลากหลายที่จำเป็นสำหรับศตวรรษใหม่ (21st Century Skills) ได้แก่ ทักษะการเรียนรู้และการเรียนอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต ทักษะการสังเคราะห์ข้อมูลและการจัดการความรู้ ทักษะชีวิต(ทำกินเป็น อยู่ได้ใช้เป็น) เช่น ทักษะ ICT การทำงานร่วมกัน การจัดการความขัดแย้ง การสื่อสาร การคิดหลายระดับ การสร้างปัจจัยการดำเนินชีวิต การดูแลสุขภาพ การแสวงหาข้อมูล การปรับตัว การออกแบบวิถีชีวิต อุปนิสัย การชี้นำตนเอง จิตสำนึกต่อคนอื่น วัฒนธรรมอื่นและต่อโลก (PBL กระบวนการเรียนรู้จากปมปัญหาสู่ปัญญา , 2555 : วิเชียร ไชยบัง, 2555)

         วิธีการแห่งศาสตร์พระราชาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงใช้เป็นวิธีการทรงงานมาตลอดรัชสมัย ทรงใช้คำว่า “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” หลักการทรงงาน เข้าใจ เข้าถึง พัฒนานั้น ทรงใช้กับทั้ง คน วัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และ วัฒนธรรม มีความลุ่มลึกและมีโครงการพระราชดำริหรืองานอื่นที่ทรงทำเป็นตัวอย่างให้เห็นอย่างชัดเจนวิธีการแห่งศาสตร์พระราชา เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา ดังนี้ 1) เข้าใจ (Understanding) นั้นประกอบด้วยองค์ประกอบย่อย 4 องค์ประกอบ คือ  (1) การใช้ข้อมูลที่มีอยู่ (Existing data) (2) การใช้ข้อมูลเชิงประจักษ์ (Empirical data) (3) การวิเคราะห์และวิจัย (Analytics and Research) และ (4) การทดลองจนได้ผลจริง (Experiment till actionable results) 2)เข้าถึง (Connecting) นั้นประกอบด้วยองค์ประกอบย่อย 3 องค์ประกอบ คือ (1) ระเบิดจากข้างใน (Inside-out blasting) (2) เข้าใจกลุ่มเป้าหมาย (Understand target) และ (3) สร้างปัญญา (Educate) และ 3)พัฒนา (Developing) แนวพระราชดำริในการพัฒนานั้นเมื่อทรงเข้าใจ เข้าถึง แล้วจึงพัฒนานั้นทรงมีหลักการสำคัญ คือ (1) เริ่มต้นด้วยตนเอง (Self-initiated) (2) พึ่งพาตนเองได้ (Self-reliance) และ  3) ต้นแบบเผยแพร่ความรู้ (Prototype and role model)ดังนั้น “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” จึงเป็นวิธีการแห่งศาสตร์พระราชาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และเป็นการปกครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยามอย่างแท้จริง 

         จากเหตุผลที่กล่าวมา ผู้วิจัยตระหนักถึงความสำคัญของการจัดกระบวนการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน ( Problem based Learning : PBL) เป็นกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่ให้นักเรียนได้ศึกษากรณีตัวอย่างเพื่อวิเคราะห์ปัญหา สาเหตุ และหาแนวทางแก้ปัญหาหรือป้องกันปัญหาดังกล่าว ซึ่งกรณีตัวอย่างที่นำมาให้นักเรียนศึกษานั้น เป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในชีวิตประจำวันของผู้เรียน มุ่งพัฒนาผู้เรียนในด้านทักษะและกระบวนการเรียนรู้ สามารถเรียนรู้โดยการสร้างองค์ความรู้ โดยผ่านกระบวนการคิดด้วยการแก้ปัญหาซึ่งเหมาะสมที่จะนำมาใช้ในการเรียนรู้คณิตศาสตร์ โดยผสานหลักการทำงานของศาสตร์พระราชา ที่มีสิ่งสำคัญในการจัดการเรียนรู้แบบใช้ปัญหาเป็นฐาน คือ ปัญหาเศรษฐกิจในชุมชน เพราะปัญหาที่ดีจะเป็นสิ่งกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดแรงจูงใจใฝ่หาความรู้ ในการเลือกศึกษาปัญหาที่มีประสิทธิภาพ จะต้องคำนึงถึงพื้นฐานความรู้ ความสามารถของผู้ของผู้เรียน ประสบการณ์ความสนใจ และภูมิหลังเพราะคนเรามีแนวโน้มที่สนใจเรื่องใกล้ตัวมากกว่าเรื่องไกลตัว สนใจสิ่งที่มีความหมาย มีความสำคัญต่อตนเองและเป็นเรื่องที่ตนเองใคร่รู้(ชัยชนม์ หลักทอง, 2556) ดังนั้นผู้วิจัยจึงสนใจที่จะพัฒนาทักษะการแก้ปัญหา เรื่อง ความน่าจะเป็น โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem-Based Learning) ผสานหลักการทำงานของศาสตร์พระราชาสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนกำแพง อย่างเต็มศักยภาพ และเตรียมความพร้อมผู้เรียนในทักษะต่างๆ ที่สำคัญในการศึกษาของศตวรรษที่ 21 ต่อไป

 

2. วัตถุประสงค์และเป้าหมายของวิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศ

         เพื่อการพัฒนาทักษะการแก้ปัญหา เรื่อง ความน่าจะเป็น โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem-Based Learning) ผสานหลักการทำงานของศาสตร์พระราชา สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ให้นักเรียนร้อยละ 70 ผ่านเกณฑ์การประเมินพฤติกรรมการเรียนรู้ร้อยละ 70 ขึ้นไป

 

3. กระบวนการ/ขั้นตอนการดำเนินการ

         ขั้นตอนในพัฒนาทักษะการแก้ปัญหา เรื่อง ความน่าจะเป็น โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem-Based Learning) ผสานหลักการทำงานของศาสตร์พระราชา สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 มีขั้นตอน 6 ขั้นตอน ดังนี้

 

ขั้นตอนในพัฒนาทักษะการแก้ปัญหา เรื่อง ความน่าจะเป็น โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem-Based Learning) ผสานหลักการทำงานของศาสตร์พระราชา สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษา ปีที่ 5 มีขั้นตอน 6 ขั้นตอน ดังนี้

เข้าใจ

(1) การกำหนดปัญหา เป็นขั้นที่ผู้สอนจัดสถานการณ์ต่างๆกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดความสนใจและมองเห็นปัญหาสามารถกำหนดสิ่งที่เป็นปัญหาที่ผู้เรียนอยากรู้อยากเรียนได้และเกิดความสนใจที่จะค้นหาคำตอบ

(2) การทำความเข้าใจกับปัญหา ผู้เรียนจะต้องทำความเข้าใจปัญหาที่ต้องการเรียนรู้ซึ่งผู้เรียนจะต้องสามารถอธิบายสิ่งต่างๆที่เกี่ยวข้องกับปัญหาได้

เข้าถึง

(3) การดำเนินการศึกษาค้นคว้า ผู้เรียนกำหนดสิ่งที่ต้องเรียนดำเนินการศึกษาค้นคว้าด้วยตนเองด้วยวิธีการหลากหลาย

(4) การสังเคราะห์ความรู้ เป็นขั้นที่ผู้เรียนนำความรู้ที่ได้ค้นคว้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันอภิปรายผลและสังเคราะห์ความรู้ที่ได้มาว่ามีความเหมาะสมหรือไม่เพียงใด

(5) การสรุปและประเมินค่าของคำตอบ ผู้เรียนแต่ละกลุ่มสรุปผลงานของกลุ่มตนเองและประเมินผลว่าข้อมูลที่ศึกษาค้นคว้ามีความเหมาะสมหรือไม่เพียงใดโดยพยายามตรวจสอบแนวคิดภายในกลุ่มของตนเองอย่างอิสระทุกกลุ่มช่วยกันสรุปองค์ความรู้ในภาพรวมของปัญหาอีกครั้ง

พัฒนา

(6) การนำเสนอและประเมินผลงาน ผู้เรียนนำข้อมูลที่ได้มาจัดระดับองค์ความรู้และนำเสนอเป็นผลงานในรูปแบบที่หลากหลายผู้เรียนทุกกลุ่มรวมทั้งผู้ที่เกี่ยวข้องกับปัญหาร่วมกันประเมินผลงาน

ซึ่งสรุปได้ดังภาพที่ 1

 

 

4. ผลการดำเนินการ/ผลสัมฤทธิ์/ประโยชน์ที่ได้รับ

       จากการดำเนินการพัฒนาทักษะการแก้ปัญหา เรื่อง ความน่าจะเป็น โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem-Based Learning) ผสานหลักการทำงานของศาสตร์พระราชา สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 เพื่อการพัฒนาแบบยั่งยืน

1. ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้เรื่อง ความน่าจะเป็น โดยหาสาเหตุของปัญหาด้วยกระบวนการจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน ( Problem based Learning : PBL) ผสานหลักการทำงานของศาสตร์พระราชา

2. ผู้เรียนเกิดกระบวนการแก้ปัญหาด้วยกระบวนการจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน ( Problem based Learning : PBL) ผสานหลักการทำงานของศาสตร์พระราชา

3. ให้นักเรียนร้อยละ 70 ผ่านเกณฑ์การประเมินพฤติกรรมการเรียนรู้ร้อยละ 70 ขึ้นไป

 

5. ปัจจัยความสำเร็จ

       การดำเนินงานในครั้งนี้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี เพราะได้รับการสนับสนุนจากท่านผู้อำนวยการ นายสมพร อาษา อีกทั้งยังได้รับคำปรึกษา คำแนะนำ และแนวทางในการดำเนินงานจากนางกฤษณา คุณมาศ หัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ได้รับความช่วยเหลือร่วมศึกษา ดำเนินงานและร่วมพัฒนาการจัดการเรียนรู้ครั้งนี้จากนางสาวสุดาวรรณ กันทะมา นางสาวรุ่งรัตน์ ใจเต็ม และนางสุดารัตน์ พิมณุวงศ์ ครูกลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ รวมทั้งนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5/3 โรงเรียนกำแพง ที่ตั้งใจเรียนรู้ โดยการศึกษาปัญหา เพื่อหาสาเหตุและหาแนวทางแก้ปัญหาด้วยกระบวนการจัดการเรียนรู้   โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน ( Problem based Learning : PBL) ผสานหลักการทำงานของศาสตร์พระราชา ส่งเสริมให้ผู้เรียนศึกษาปัญหา ผ่านทักษะการคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์วิธีการแก้ปัญหา ใช้ทักษะการทางานกลุ่มในการคัดเลือกวิธีการแก้ปัญหาที่เหมาะสมที่สุด ฝึกความกล้าแสดงออก ฝึกความเป็นผู้นำ ผู้ตามเป็นผู้พูดและผู้ฟังที่ดี จนตระหนักถึงความสำคัญของคณิตศาสตร์ ผสานหลักการทำงานของศาสตร์พระราชา พร้อมรับความเปลี่ยนแปลงในด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรม ต่อไป

 

6. บทเรียนที่ได้รับ (Lesson Learned)

       การพัฒนาทักษะการแก้ปัญหา เรื่อง ความน่าจะเป็น โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem-Based Learning) ผสานหลักการทำงานของศาสตร์พระราชา สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ครูควรศึกษาความรู้หรือทัศนคติเบื้องต้นที่นักเรียนมีต่อคณิตศาสตร์ ปรับความรู้พื้นฐาน ศึกษานวัตกรรมการเรียนรู้แบบใช้ปัญหาเป็นฐาน ( Problem based Learning : PBL) และศาสตร์พระราชาเป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องความเชื่อมโยงระหว่างเนื้อหาเรื่องความน่าจะเป็น กับหลักเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา อีกทั้งต้องศึกษาขั้นตอนกระบวนการเรียนรู้และการบริหารชั้นเรียนเชิงบวกให้เหมาะสมต่อการเรียนรู้ของผู้เรียน อธิบายขั้นตอนกระบวนการเรียนรู้ให้ผู้เรียนทราบอย่างชัดเจน ร่วมกันตั้งกติกาของชั้นเรียนระหว่างครูผู้สอนและนักเรียน และสำคัญที่สุดคือการควบคุมเวลาในแต่ละขั้นตอนให้เป็นไปตามที่กำหนดมากที่สุด การจัดการเรียนรู้เรื่อง ความน่าจะเป็น โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน ( Problem based Learning : PBL) ผสานหลักการทำงานของศาสตร์พระราชา สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 นี้ ส่งเสริมให้นักเรียนมีความเข้าใจในแก่นแท้ของคณิตศาสตร์ ผ่านมุมมองของศาสตร์พระราชา รู้จักการวางแผนการดำเนินชีวิตในยุคโลกาภิวัตน์ พร้อมรับความเปลี่ยนแปลงในด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมได้เป็นอย่างดี

 

7. การเผยแพร่/การได้รับการยอมรับ/รางวัลที่ได้รับ

         เผยแพร่ในเว็บไซต์ www.kps.ac.th

 

 

ครูปาริสา อร่ามเรือง : การพัฒนาการจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน เรื่อง ความน่าจะเป็น

ชื่อเรื่อง  การพัฒนาการจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน  เรื่อง  ความน่าจะเป็น สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่  5 

ผู้วิจัย     ปาริสา  อร่ามเรือง

ปีที่ทำ    2561

 

                                                                     บทคัดย่อ

 

         การวิจัยเรื่องการพัฒนาการจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน  เรื่อง  ความน่าจะเป็น สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่  5  ในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อพัฒนาแผนการจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน  เรื่อง ความน่าจะเป็น สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ที่มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์  75/75 2) เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนเรียนและหลังเรียนด้วยแผนการจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน  เรื่อง  ความน่าจะเป็น สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่  5 และ 3) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน  เรื่อง ความน่าจะเป็น  ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5  กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยคือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา  2560 โรงเรียนกำแพงอำเภออุทุมพรพิสัย  จังหวัดศรีสะเกษ  ได้มาโดยการสุ่มอย่างง่าย ด้วยวิธีการจับฉลากจาก 3 ห้องเรียน ได้มา 1 ห้องเรียน  คือ  นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่  5/3  จำนวน  34  คน  เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้มี 3 ชนิด ได้แก่  แผนการจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน  จำนวน 20 แผน  แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เรื่อง ความน่าจะเป็น  และแบบสอบถามความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ค่าเฉลี่ยเลขคณิต () ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.)  ค่าประสิทธิภาพของแผนการจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐานและทดสอบค่าที (dependent t-test)  ที่ระดับความมีนัยสำคัญทางสถิติ .01

 

ผลการวิจัยปรากฏ  ดังนี้

1.  ประสิทธิภาพของแผนการจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐานทั้ง 20  แผน  สูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดและประสิทธิภาพของแผนการจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐานมีค่าเท่ากับ 81.43/80.44

2.  ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนหลังเรียนด้วยแผนการจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน  เรื่อง ความน่าจะเป็น  สูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01

3.  ผลของการวิเคราะห์ความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหา   เป็นฐาน  เรื่องความน่าจะเป็น  ในภาพรวมอยู่ในระดับพึงพอใจมาก  เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน  พบว่า  ด้านที่พึงพอใจมากที่สุด  ได้แก่  ด้านประโยชน์ที่ผู้เรียนได้รับ  รองลงมา  ได้แก่ ด้านผู้สอนและด้านการวัดและประเมินผลตามลำดับ       

 

 

 

ครูปาริสา อร่ามเรือง : การพัฒนาชุดการเรียนแบบร่วมมือ เรื่อง ทฤษฎีกราฟเบื้องต้น

ชื่อเรื่อง     การพัฒนาชุดการเรียนแบบร่วมมือ เรื่อง ทฤษฎีกราฟเบื้องต้นสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5

ผู้วิจัย       นางปาริสา อร่ามเรือง

ปีที่ทำ       2560

 

                                                                     บทคัดย่อ

 

             การวิจัยเรื่องการพัฒนาชุดการเรียนแบบร่วมมือ เรื่อง ทฤษฎีกราฟเบื้องต้น สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1)เพื่อพัฒนาชุดการเรียนแบบร่วมมือ เรื่อง ทฤษฎีกราฟเบื้องต้น สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ที่มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 2) เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนเรียนและหลังเรียนด้วยชุดการเรียนแบบร่วมมือ เรื่อง ทฤษฎีกราฟเบื้องต้น สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 และ 3)เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการเรียนรู้โดยใช้ชุดการเรียนแบบร่วมมือ เรื่อง ทฤษฎีกราฟเบื้องต้น สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ คือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5/3 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2560 โรงเรียนกำแพง อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ จำนวน 42 คน ได้มาโดยการสุ่มแบบกลุ่ม (Cluster Random Sampling)เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้มี 3 ชนิด ได้แก่ 1)ชุดการเรียนแบบร่วมมือ เรื่อง ทฤษฎีกราฟเบื้องต้น จำนวน    5 ชุด 2)แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เรื่อง ทฤษฎีกราฟเบื้องต้น จำนวน 30 ข้อ และ 3)แบบสอบถามความพึงพอใจที่มีต่อชุดการเรียนแบบร่วมมือ เรื่อง ทฤษฎีกราฟเบื้องต้น จำนวน 20 ข้อ วิเคราะห์ข้อมูลโดยหาค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ยเลขคณิต ()  ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.)  ค่าประสิทธิภาพของชุดการเรียนแบบร่วมมือ และทดสอบค่าที (dependent t-test) ที่ระดับความมีนัยสำคัญทางสถิติ .01

 

ผลการวิจัย พบว่า

1. ประสิทธิภาพของชุดการเรียนแบบร่วมมือ เรื่อง ทฤษฎีกราฟเบื้องต้น สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 พบว่า มีค่าประสิทธิภาพเท่ากับ 83.33/82.94

2. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนหลังเรียนโดยใช้ชุดการเรียนแบบร่วมมือ เรื่อง ทฤษฎีกราฟเบื้องต้น สูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01

3. ผลของการวิเคราะห์ความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการเรียนรู้โดยใช้ชุดการเรียนแบบร่วมมือ เรื่อง ทฤษฎีกราฟเบื้องต้น โดยรวมอยู่ในระดับพึงพอใจมากที่สุด เมื่อพิจารณาเป็นรายด้านพบว่า ด้านที่มีค่าเฉลี่ยมากที่สุด ได้แก่ ด้านเนื้อหา รองลงมา ได้แก่ ด้านกิจกรรมและด้านการวัดผลและประเมินผล ตามลำดับ

 

 

 

ครูชนนิกานต์ เชื้อทอง : การพัฒนาแบบฝึกทักษะคณิตศาสตร์

ชื่อเรื่อง          การพัฒนาแบบฝึกทักษะคณิตศาสตร์ เรื่อง อัตราส่วนและร้อยละ  ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2

ผู้วิจัย             นางสาวชนนิกานต์  เชื้อทอง 

หน่วยงาน        โรงเรียนกำแพง  อำเภออุทุมพรพิสัย  จังหวัดศรีสะเกษ  สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา  เขต  28

ปีที่ทำการวิจัย    ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2558

 

                                                                     บทคัดย่อ

                การพัฒนาแบบฝึกทักษะคณิตศาสตร์ อัตราส่วนและร้อยละชั้น มัธยมศึกษาปีที่ 2 มีวัตถุประสงค์ดังนี้  1) เพื่อศึกษาประสิทธิภาพของแบบฝึกทักษะคณิตศาสตร์ อัตราส่วนและร้อยละ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2  2)  เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนเรียนและหลังเรียนของนักเรียนที่เรียนด้วยแบบฝึกทักษะคณิตศาสตร์  เรื่อง อัตราส่วนและร้อยละ ชั้น มัธยมศึกษาปีที่ 2   3)  เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการเรียนรู้โดยใช้แบบฝึกทักษะคณิตศาสตร์  เรื่อง อัตราส่วนและร้อยละ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2  ประชากรในการศึกษาครั้งนี้ คือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ที่ศึกษาอยู่ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2558 โรงเรียนกำแพง  สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต  28  จำนวน 8  ห้องเรียน มีนักเรียนทั้งหมด 254  คน กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้เป็นนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2   ที่ศึกษาอยู่ในภาคเรียนที่ 1  ปีการศึกษา 2558 โรงเรียนกำแพง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา  เขต 28  จำนวน 1 ห้อง  มีนักเรียน 36  คน ที่ได้มาโดยวิธีการสุ่มแบบกลุ่ม (Cluster Random Sampling)  เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย  แผนการจัดการเรียนรู้วิชาคณิตศาสตร์  กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์  เรื่อง อัตราส่วนและร้อยละ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2  จำนวน 14  แผน แบบฝึกทักษะคณิตศาสตร์ เรื่อง  อัตราส่วนและร้อยละ          ชั้น มัธยมศึกษาปีที่ 2 จำนวน 14   ชุด แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ เรื่อง อัตราส่วนและร้อยละ  จำนวน  40 ข้อ  เป็นแบบทดสอบแบบปรนัยชนิดเลือกตอบ  4  ตัวเลือกซึ่งมีค่าความยากง่ายอยู่ระหว่าง  0.21 ถึง 0.78 ค่าอำนาจจำแนกอยู่ระหว่าง 0.25 ถึง 0.92  และความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.81  แบบสอบถามความพึงพอใจของผู้เรียนที่มีต่อการเรียนรู้โดยใช้แบบฝึกทักษะคณิตศาสตร์  เรื่อง อัตราส่วนและร้อยละ ซึ่งมีค่าอำนาจจำแนกอยู่ระหว่าง 0.21 ถึง 0.64 และความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.84 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลได้แก่  ค่าเฉลี่ย()  ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน(S.D) ค่าร้อยละ (%) และทดสอบสมมุติฐานโดยใช้   t - test (Dependent  Sample) ผลการวิจัยครั้งนี้พบว่า

                1.  แบบฝึกทักษะคณิตศาสตร์  เรื่อง อัตราส่วนและร้อยละ  ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2  ที่สร้างขึ้นมีประสิทธิภาพ 83.19/82.15ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์  80/80   ที่ตั้งไว้

                2.  ค่าดัชนีประสิทธิผลของการเรียนรู้โดยใช้แบบฝึกทักษะคณิตศาสตร์   เรื่อง อัตราส่วนและร้อยละ  ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 มีค่าเท่ากับ 0.54 แสดงว่า ผู้เรียนมีความรู้เพิ่มขึ้นร้อยละ 54

                3.  ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนที่จัดการเรียนรู้โดยใช้แบบฝึกทักษะคณิตศาสตร์ หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ  .05       

4.  ความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการจัดการเรียนรู้โดยใช้แบบฝึกทักษะคณิตศาสตร์ เรื่อง อัตราส่วนและร้อยละ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 อยู่ในระดับมาก (= 4.34  และ S.D  = 0.64 )